ยินดีต้อนรับ

ยินดีต้อนรับ

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว

พระราชดำรัส
การแก้ปัญหาอุทกภัยจังหวัดชุมพร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
******************************
         ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาให้พร เวลาได้ผ่านมาอีกหนึ่งปี ปีนี้มีความคล้ายคลึงกับปีที่แล้วและในหนังสือเล่มนี้ (ทรงชี้ในหนังสือพระราชดำรัสปี 2539) มีหลักฐานอยู่ พูดว่าเหล่าพี่ๆ ก็ได้มาให้พร ซึ่งทำให้สามารถผ่านอีกหนึ่งปีโดยสวัสดิภาพ เมื่อปีที่แล้วได้พูดว่าคนที่จะจำเรื่องราวเมื่อหลายปีมาแล้วอาจจะหายาก แล้วก็พูดถึงว่ามีเด็กหัวกลมน่ารัก อันนี้ก็ที่ได้มาลงรูปภาพในเล่มนี้เป็นหลักฐานว่า เมื่อประมาณ 65 ปี หรือกว่า มีเด็กน่ารัก พวกพี่ๆอาจจะดูไม่ค่อยเห็น ก็ต้องใส่แว่นตา (เสียงหัวเราะ) และเมื่อปีที่แล้ว ก็พูดถึงลิง หารูปตัวลิงไม่ได้ จึงเอารูปกรงลิงที่เกิดเหตุเมื่อหกสิบเจ็ดปีมาแล้ว กรงลิงนี้ไม่มีแล้ว เคยอยู่ที่วังสระประทุม รูปนี้ได้ถ่ายเองเมื่อยังไม่ได้รื้อ แต่ไม่มีลิงอยู่แล้ว
ปีที่แล้วก็ได้พูดถึงลิง เพราะมีโครงการแก้มลิง โครงการแก้มลิงนั้นได้พูดถึงหลายปีมาแล้ว และเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ที่ได้ทำกิจการแก้มลิงนี้ ก็ได้ผลพอสมควรแล้ว ปีนี้กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม แต่ได้ใช้โครงการนี้ในที่ที่น้ำท่วมและได้เกิดผลดี เมื่อสองเดือนที่แล้ว มีน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัด แต่ที่ดูจะรุนแรงที่สุดก็คือที่จังหวัดชุมพร แม้ยังไม่ถึงฤดูกาล ที่จะมีพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น ฝนก็ลงมา จนทำให้น้ำท่วมในตัวเมืองชุมพร มีความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล เขาว่าบางแห่งท่วมถึงสองเมตร ซึ่งทำให้มีความเสียหายมากต่อทรัพย์สินของประชาชน และแม้แต่สิ่งของของทางราชการ เช่น ที่โรงพยาบาลเครื่องเอกซเรย์ถูกน้ำท่วมเสียหาย
         ฉะนั้น แม้ต้องลงทุนเพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมรุนแรงอย่างนั้น ก็ควรทำ ได้ส่งคนไปดูและเขาถ่ายรูป ทั้งทางบก ทั้งทางอากาศ และ เมื่อดูแผนที่ ก็เห็นว่ามีแห่งหนึ่งที่ควรทำเป็นแก้มลิงได้ มีโดยธรรมชาติ คือ มีหนองใหญ่ หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างใหญ่สมชื่อ แต่ก็ไม่ใหญ่พอ เพราะมีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน แต่ที่สำคัญมีคลองที่อยู่ ใกล้หนองใหญ่นั้น แต่คลองนั้นยังตัน คือ ยังไม่ได้ขุดให้ตลอด ยังเหลือระยะอีก กิโลเมตรครึ่งเศษ ๆ น้ำที่ลงในคลองนี้จะระบายลงไปสู่ทะเล มิให้วกมาท่วมเมือง จึงถามว่า โครงการที่เขาจะทำนี้จะขุดคลองนี้ให้เสร็จได้เมื่อไหร่ เขาบอกว่า มีงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่มาและเข้าใจว่าจะทำเสร็จในปีหน้า ในปี 2541
        นึกว่าจะต้องหาวิธีที่ใช้ประโยชน์จากคลองซึ่งได้ลงทุนมามากแล้ว ให้ได้ประโยชน์ในฤดูกาลที่จะมีพายุเข้ามา เลยบอกเขาว่า จะขอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่มี ทั้งฝ่ายกรมชลประทาน ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ให้เขาสามารถรีบขุดตามแผนและให้ทำโครงการเสร็จภายในเดือนหนึ่งแทนที่จะเป็นปีหนึ่ง ได้รับรองเขาว่า ถ้าต้องการการสนับสนุน จะให้การสนับสนุนเอง จึงเริ่มทำการขุดและให้ทำท่อ และมีประตูน้ำที่จะทะลุออกไปในหนองใหญ่ เพื่อระบายน้ำลงคลองที่จะขุดให้ครบ บอกเขาว่า ให้เวลาเดือนหนึ่งเขาก็สั่นหัวว่า งานเช่นนี้ต้องใช้เวลา ก็เลยบอกกับเขาว่า ขอสนับสนุนด้วยเงินส่วนหนึ่งของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งได้อุดหนุนในการใส่ท่อจากหนองใหญ่ ลงสู่คลอง และมีประตูน้ำ
สำหรับการขุดคลองให้สำเร็จนั้นทางมูลนิธิชัยพัฒนาจะสนับสนุนเงินสิบแปดล้าน ซึ่งถ้าทางราชการมอบเงินตามงบประมาณได้เมื่อไหร่ ก็ขอคืนแต่ไม่ทราบว่า ทางราชการจะสนับสนุนเงินนี้หรือไม่ แต่ก็ไม่เป็นไร มูลนิธิก็ยอมที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง ทำอย่างนี้เพราะเห็นว่าการลงทุนแม้จะมีเงินน้อยแต่การลงทุนเพื่อให้มีผลิตผลมากขึ้นข้อหนึ่ง การลงทุนเพื่อให้ไม่ต้องเสียเงินอีกข้อหนึ่ง เป็นสิ่งที่คุ้ม เพราะว่าถ้าเราไม่ทำ ก็เชื่อว่าการที่มีน้ำท่วม ทั้งที่ทำการเพาะปลูก ทั้งสถานที่ราชการ หรือเอกชนเสียหายนั้น จะต้องเสียเงินมากกว่ามาก คือ เสียเงินค่าสงเคราะห์ผู้ที่เสียหาย ถ้าไม่มีความเสียหายก็ไม่ต้องเสียเงิน ประชาชนจะได้ทำมาหากินอย่างปกติ ผลของงานของเขาก็จะเป็นรายได้ นอกจากรายได้ ก็จะได้รับความสะดวก เช่น เครื่องเอกซเรย์ที่ได้กล่าวถึง ก็จะบริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้ตามปกติ ฉะนั้น การที่ลงทุนเพื่อให้สำเร็จภายในเดือนนั้น สิบแปดล้านกว่าก็น่าจะคุ้มค่า เป็นการประหยัดเงินของประชาชน ทั้งเป็นการประหยัดเงินของราชการด้วย

         สำหรับประตูน้ำนั่นก็ได้ผล เมื่อพายุ “ลินดา” เข้า ทีแรกนึกว่าจะเข้าชุมพร ทางกรมอุตุนิยมฯได้แจ้งว่า จะเข้าแถวชุมพรแต่ว่า ความจริงนึกว่าจะเลยชุมพรขึ้นมาถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี เช่นนั้นก็จะทำให้ชุมพรไม่โดนกำลังแรงที่สุดของพายุ แม้กระนั้นโดยที่คลองท่าตะเภา เขาเรียกว่าคลอง คือ ลำน้ำที่ผ่านเมืองชุมพร มีต้นน้ำขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เข้าใจว่าน้ำจะลงมามาก ถึงเวลาพายุ “ลินดา” เข้าฝนก็ลงตลอดแถวตั้งแต่เหนือของชุมพรไปถึงเพชรบุรี น้ำก็จะท่วมแต่โดยที่ได้ระบายน้ำออก จากหนองใหญ่ลงคลองที่ขุดทะลุลงทะเลไปได้แล้ว ก่อนที่น้ำอันเนื่องจากพายุลงมาถึงหนองใหญ่จึงรับน้ำที่ลงมาได้แล้วระบายลงทะเลตามหน้าที่ ของหนองใหญ่ในฐานะเป็นแก้มลิง ลงท้ายตัวเมืองชุมพร และชนบทข้างๆ ชุมพร น้ำจึงไม่ท่วมแม้จะมีพายุมาอย่างหนัก จึงเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงของมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีผลงานสมชื่อ


       ผลงานของมูลนิธิชัยพัฒนา และของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งหมายถึงว่า พระราชากับประชาชนอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ทำให้ประชาชนชาวชุมพรร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ ตามปกติชาวชุมพรก็ไม่ได้ค่อยแยแสกับการบริจาคนัก แต่เมื่อเห็นผลงานที่ฉับพลัน ดังนี้ ก็บริจาคเงินเป็นแสน การที่สองเดือนที่แล้วมีเหตุการณ์น้ำท่วม และสามารถที่จะทำให้น้ำท่วมนั้นบรรเทาลงได้ก็เป็นการดี ที่จังหวัดอื่นก็เข้าใจว่ามีทางที่จะทำเช่นเดียวกัน โดยมีการลงทุนบ้าง และจะเป็น ผลให้ประหยัดด้านการสงเคราะห์ เนื่องจากความเสียหาย เช่น พืชผลจะจมน้ำตาย
เมื่อพืชผลจมน้ำตาย ทางราชการก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์หรือส่งเสริม ให้ประชาชนมีอยู่มีกินได้ ฉะนั้นเห็นว่าการลงทุนนี้คุ้มค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น